วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าอาข่า : เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีของอาข่า
สมัยก่อนคนอาข่ามีความเชื่อกันว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างคนขึ้นมา แต่จะสร้างขึ้นมาเพียงเผ่าละ 2-3 คนเท่านั้น ซึ่งช่วงเวลานั้นยังไม่มีประเพณีพิธีกรรม หรือกฎเกณฑ์ใด ๆ มากนัก เพราะมีคนจำนวนน้อย ต่อมาได้มีเลขาของพระเจ้าได้ชี้แนะแนวทาง และสอนการทำเครื่องดนตรีให้กับชาวอาข่า และเมื่อคนอยู่ด้วยกันก็ได้เกิดลูกเกิดหลานมากขึ้น ทำให้เกิดประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ จึงได้คิดสร้างเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เมื่อเวลาที่ลูกหลานอยู่ห่างไกลกัน ก็จะใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อเพื่อแสดงความคิดถึงต่อกัน จนทำให้เครื่องดนตรีเป็นที่นิยม และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เครื่องดนตรีของอาข่ามีดังนี้

เครื่องดนตรีประเภทเป่า ได้แก่

• แคน (หละเจ่) เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมเล่นกันของผู้ชายอาข่า ซึ่งจะเล่นในเวลาที่ว่างหรือช่วงประเพณีต่าง ๆ โดยใช้บริเวณลานวัฒนธรรมชุมชนเป็นสถานที่เล่น หรือเล่นระหว่างทางไปท่องเที่ยวต่างหมู่บ้าน เพื่อส่งเสียงให้ผู้คนได้ยิน เครื่องแคนของอาข่ายังไม่พบว่าเกิดขึ้นในช่วงใด หรือมีตำนานกล่าวว่าอย่างไร จากที่ได้สอบถามข้อมูลกับผู้เฒ่าผู้แก่ของอาข่าได้ความว่า เมื่อก่อนชาวอาข่าทำแคนขึ้นมาเอง แต่ไม่สามารถที่จะเล่นได้เพราะไม่รู้จังหวะ และวิธีการเป่า แต่เนื่องจากคนอาข่าสื่อสารกับผีได้ ซึ่งผีสามารถที่จะเป่าแคนได้ ชาวอาข่าจึงเรียนรู้จังหวะ และวิธีการเป่าแคนมาจากผี ซึ่งความรู้นั้นจึงตกทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

คนอาข่าเชื่อกันว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้าง ผี หรือ "แหนะ" ขึ้น มา เช่น ผีแม่น้ำ ผีเจ้าป่าเจ้าเขา ผีเจ้าที่เจ้าทาง ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับคนและจะอยู่ร่วมกันกับคน แต่จะมองเห็นได้ในช่วงที่มีเทศกาลหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ชาวอาข่าจะเป่าแคนหลังจากพิธีไล่ผีจนถึงเทศกาลกินข้าวใหม่ ซึ่งจะไม่เป่าในเดือน พฤศจิกายน เพราะว่าในเดือนนี้ผีจะเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงไม่กล้าที่จะเป่าแคนในช่วงนี้ เพราะว่าอาย และกลัวว่าผีจะลงโทษ เนื่องจากชาวบ้านเรียนรู้จังหวะ และวิธีการเป่าแคนมาจากผีนั่นเอง

• ขลุ่ย (ชิวลิ่ว)

ขลุ่ยของอาข่าจะเป็นขลุ่ย 3 รู จะเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมเล่นในหมู่ผู้ชายอาข่า ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีขลุ่ยอยู่แต่คนที่สามารถเป่าได้มีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังเป่ากันอยู่ในระหว่างเดินทางไปทำไร่ทำสวน เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานแต่เด็ก ๆ และเยาวชนในหมู่บ้านจะไม่นิยมเป่ากันแล้ว

• เป่าใบไม้ (อะปะบอเออ)
ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนิยมเป่าในระหว่างทางไปทำไร่ ทำสวนหรือระหว่างทางไปท่องเที่ยวต่างหมู่บ้าน เขาจะห้ามเป่าในบริเวณหมู่บ้าน เพราะเชื่อกันว่าใบไม้เป็นของดิบใช้ได้ครั้งเดียว และก็ต้องทิ้งไปถ้าเกิดเอามาเป่าในหมู่บ้าน ก็จะไม่ดีถือเป็นลางร้าย

• ขลุ่ยต้นข้าว
จะนิยมเป่ากันเฉพาะฤดูเกี่ยวข้าวเท่านั้น พวกเด็ก ๆ และหนุ่มสาวในหมู่บ้านจะนิยมเป่ากัน แต่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยนิยมเป่า และกระชับไม่ให้เด็กเป่ากัน เนื่องจากเชื่อกันว่า ถ้าเป่าแล้วจะเป็นลางร้ายทำให้ฝนตกข้าวในไร่นาเสียหายได้ แต่เด็กมีนิสัยดื้อ ไม่ค่อยเชื่อฟังเท่าไหร่นัก เมื่อเห็นใครทำขึ้นมา เล่นกัน เด็กก็จะเอาไปเล่น การเป่าขลุ่ยต้นข้าวจึงมีมาจนถึงปัจจุบัน

• เป่ากระบอกไม้ (บ่อลอบอเออ)
มีลักษณะคล้ายกับขลุ่ยต้นข้าว แต่จะทำจากไผ่ลำเล็ก ส่วนมากจะนิยมเป่ากันเป็นกลุ่มหลาย ๆ คน เวลาจะเดินทางไปไหนมาไหน หรือเข้าป่าลึกคนเดียวจะไม่นิยมเป่ากัน เพราะอาข่ามีความเชื่อว่า เมื่อเราเป่ากระบอกไม้นี้ สัตว์ป่า หรือผีสางในป่าจะมาหาเรา และอาจทำร้ายเราได้ อาข่าจึงไม่นิยมเป่ากระบอกไม้ในป่า จึงเป็นความเชื่อและถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน

• จิ๊งหน่อง (จ๊ะเอว่)
การเล่นติ้งหน่องจะใช้วิธีการดีด และจะใช้ลมที่ปาก ช่วยในการทำให้เกิดเสียง ส่วนใหญ่เล่นในเวลาที่ว่างจากการทำงาน หรือระหว่างทางเดินไปท่องเที่ยวต่างหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่หนุ่ม ๆ ในหมู่บ้านจะเล่นกัน เพื่อเป็นสื่อในการเกี้ยวสาว โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่เป็นคนทำ และสอนวิธีการเล่นให้กับหนุ่ม ๆ ซึ่งพวกเขาจะไม่นิยมเล่นกันต่อหน้าพ่อแม่ เนื่องจากเพลงที่เล่นส่วนใหญ่เป็นเพลงเกี่ยวกับเพลงจีบสาว จึงอาย และไม่กล้าเล่นต่อหน้าพ่อแม่

• ซึง (ดรื้ม)
ซึงของอาข่าจะมี 3 สาย ซึ่งเป็นเครื่องเล่นของผู้ชายและจะเล่นกันในเวลาที่ว่างจากการทำงาน เพื่อเป็นสื่อการเกี้ยวสาว โดยมีคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านเป็นคนทำให้ และจะสอนวิธีการเล่นให้ด้วย


• กลอง (ถ่อง)
สมัยก่อนกลองจะสามารถทำขึ้นมาได้เอง แต่คนที่สามารถทำกลองได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีบารมีสูง เช่น หมอผี ผู้นำศาสนา ช่างตีเหล็ก หรือผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นต้น คนอาข่าจะเชื่อกันว่า ถ้าผู้ชายคนใดมีภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ห้ามไม่ให้ผู้ชายคนนั้นตีกลอง เพราะเขาถือกันว่า ถ้าหากตีกลองก็เหมือนกับตีลูกของตัวเอง

• ฆ้อง (โบวโล)
ฆ้องถือเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญมากชนิดหนึ่ง ซึ่งทุกครอบครัวในหมู่บ้านจะต้องมี เพื่อใช้ในการทำพิธีกรรมหรือประเพณีที่สำคัญๆของหมู่บ้าน ถ้าครอบครัวใดไม่มีฆ้อง ครอบครัวนั้นก็จะเข้าร่วมในประเพณีหรือพิธีกรรมนั้นไม่ได้ สมัยก่อนฆ้องจะต้องซื้อมาจากเมืองจีน แต่ปัจจุบันในท้องตลาดของบ้านเราก็มีขาย

• ฉิ่ง (แจเล้)
สมัยก่อนฉิ่งก็ต้องซื้อมาจากเมืองจีนเหมือนกัน เพื่อนำมาใช้ในประเพณีหรือเทศกาลต่าง ๆ ที่สำคัญภายในหมู่บ้าน ***ฆ้อง กลอง ฉิ่ง เครื่องดนตรีทั้งสามชนิดนี้จะต้องเล่นร่วมกันและจะใช้ในพิธีที่สำคัญ ๆ เท่านั้น และพิธีนั้นก็จะต้องเป็นพิธีเกี่ยวกับส่วนรวมด้วยจะนำมาเล่นภายในครอบครัว ไม่ได้

• กระทุ้งไม้ไผ่ (บ่อฉ่องตูเออ)
การละเล่นกระทุ้งไม่ไผ่หรือ "บ่อฉ่องตูเออ" เป็นการละเล่นที่ใช้เครื่องดนตรีประกอบด้วย การละเล่นประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง หรือกลุ่มแม่บ้าน และจะมีท่าเต้นประกอบด้วย จะเล่นกันในช่วงเทศกาลประเพณีที่สำคัญในหมู่บ้าน เช่น ประเพณีโล้ชิงช้า ไล่ผี และเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งจะมีการเต้นเป็นวงกลมตามจังหวะของกลอง ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ อย่างพร้อมเพรียงกัน

เครื่องดนตรีของแต่ละชนเผ่า คือ สิ่งที่บ่งบอกถึงความสวยงาม และความหลากหลายทางภูมิปัญญาความคิด ภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เกิดขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อทางอารมณ์ แทนการบอกเล่ากันทางปากต่อปาก เสียงไพเราะเพาะพริ้งของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดยามตะวันแลง จะยังคงอยู่และสืบเนื่องต่อไป หากได้รับการปลูกฝัง และการเอาใจใส่ ของกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าชนรุ่นใหม่ มันคือสิ่งสวยงาม สิ่งที่เรามีไม่เหมือนใคร และไม่มีของใครเหมือนเราเช่นกัน