วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/11/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

นิทานล้านนา เรื่อง วิธีปราบลิง
 
ที่หมู่บ้านสันขะหมวด หมู่บ้านนี้ประกอบอาชีพทำไร่ทำนาหมุนเวียนตามฤดูกาล ในฤดูที่ปลูกแตงโมมักจะได้รับความเดือดร้อนจากสัตว์ที่อาศัยในป่าแถบนั้น โดยเฉพาะพวกลิงซึ่งมักจะพาพวกลงกินแตงโมที่กำลังสุกพอดี ชาวไร่เดือดร้อนมาก จะไล่จับมันก็ไม่ทันเพราะมันเป็นสัตว์ที่ว่องไวและรวดเร็วมาก จึงเป็นปัญหาหนักอกชาวไร่เสมอ

ต่อมามีชายคนหนึ่งออกอุบายในการจับลิงเหล่านั้น โดยเอา ‘' ข้าวเม่า ‘' ( ข้าวหมัก หรือข้าวหมาก ) ซึ่งหมักไว้ ๖ - ๘ วัน แล้วนำมาวางไว้กลางสวนแตง เมื่อพวกลิงลงมาขโมยกินแตง ขณะที่หัวหน้าลิงกำลังหาดูแตงโมว่าลูกไหนสุกและกินได้ มันก็ได้กลิ่นของข้าวหมัก จึงตามกลิ่นไปจนพบ แล้วพาลูกน้องไปกินข้าวหมักด้วย จนในที่สุดข้าวหมักออกฤทธิ์ทำให้พวกลิงเมาจนหมดสติหลับกันหมด นอนกันเป็นกอง ๆ อยู่กลางสวน พวกชาวไร่ต่างก็พากันออกมาฆ่าลิงพวกนั้นตายจนหมด

ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

- อ่านสนุกเพลิดเพลิน

- แก้ปัญหาด้วยกำลังปัญญาความคิด

- รู้และเข้าใจนิสัยที่แท้จริงของปัญหาที่จะแก้

- มีความสามารถแต่ขาดความคิดถึงเหตุผล ทำให้เกิดหายนะได้

คติ

‘'ความหายนะเกิดจากความลุ่มหลงหรือสิ่งล่อใจได้ ‘'

นิทานพื้นบ้านล้านนาไทยแต่ละเรื่อง ได้ให้คุณค่าด้านความสนุกสนานเพลิดเพลิน ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของไทย สามารถเป็นเครื่องหล่อหลอมอัธยาศัยจิตใจของคนภาคเหนือ ให้มีความเมตตากรุณา อ่อนโยน อ่อนน้อม น่าคบหาซึ่งสิ่งเลห่านี้นิทานมีส่วนสำคัญต่อการปฏิบัติตนทางจริยธรรมไม่น้อย เช่น

ปัญญาสชาดก นิทาน ๕๐ เรื่อง ที่มหาพื้นบ้านที่ดีหลายเรื่องต้องสูญหายไปตามบุคคลและกาลเวลา เนื่องจากไม่มีลูกหลานผู้สนใจรื้อค้น ศึกษา และเก็บรักษาไว้ ในปัจจุบันนี้ สถาบันกรศึกษาหลายแห่งต่างให้ความสนใจในการศึกษาค้นคว้า ได้มีการเก็บรวบรวมนิทานพื้นบ้านเข้าไว้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ไว้แล้วยังช่วยให้เยาวชนของชาติมีโอกาสเรียนรู้ การศึกษา การต่อสู้ และวิถีชีวิตแห่งบรรพบุรุษของตนได้เป็นอย่างดี

การนำเอานิทานไปเล่าเรื่องประกอบคำสอนให้เด็ก ๆ ได้ฟังย่อมจะเป็นเครื่องทำให้เพลิดเพลินและเสริมความรู้ แบ่งเบาภาระที่จะต้องสอนเนื้อหาอย่างเดียว โดยอาศัยบุคลาธิษฐานเป็นตัวอย่างประกอบ นอกจากนี้นิทานแต่ละเรื่องเรื่องยังให้ข้อเท็จจริงและช่วยในด้านการอ่าน การเขียน การใช้ภาษาที่ถูกต้อง เป็นการเพิ่มทักษะในด้านการเห็น การฟัง และการทำตามเยี่ยงอย่างอันดีนั้นด้วยการศึกษาเรื่องนิทานจึงเป็นปัจจัยให้ เกิดความรู้ทั้งทางทฤษฎีและแนวปฎิบัติด้วยทั้งสองทาง