แหล่งโบราณคดีภาคเหนือ - แหล่งโบราณคดีบ้านวังทอง
แหล่งโบราณคดีบ้านวังทอง
ภาค ภาคเหนือ
จังหวัด พิษณุโลก
- สถานที่ตั้ง ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำวังทอง (แม่น้ำเข็ก)
- ประวัติความเป็นมา
เดิมเป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ ร่วมสมัยกับกรุงสุโขทัย ต่อมาที่ว่าการอำเภอนครป่าหมากย้ายมาตั้งในเขตอำเภอวังทอง จึงเรียกบริเวณนี้ว่า อำเภอนครป่าหมาก และในพุทธศักราช ๒๔๘๔ ได้เปลี่ยนเรียกว่าอำเภอวังทอง
- ลักษณะทั่วไป
เป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่มาก ตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามริมฝั่งแม่น้ำเข็ก และแม่น้ำท่าหมึนพระราม พบหลักฐานโบราณสถานและโบราณศิลปะสุโขทัย-อยุธยาเป็นจำนวนมาก
- หลักฐานที่พบ
พบหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญดังนี้
๑. พบวัดโบราณเก่าแก่เรียงรายอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำมากกว่า ๑๐ แห่ง วัดบางแห่งถูกทำลายโดยวิธีการไถจนไม่เหลือร่องรอยให้เห็น ส่วนวัดสำคัญที่ยังปรากฎหลักฐานให้ศึกษาได้ คือ วัดบางสะพาน วัดวังครุฑวัดบึงยายเพี้ยน วัดหางหงส์ วัดวังฉำฉา วัดวังสำโรง วัดวังชมชื่น วัดวังทอง
๒. พบศูนย์รวมโบราณวัตถุของแหล่งโบราณคดีบ้านวังทอง ได้แก่ เครื่องถ้วยศิลปะสุโขทัยและเครื่องถ้วยจีน จำนวนประมาณ ๒,๐๐๐ ชิ้น นอกจากนั้นยังพบเครื่องมือเครื่องใช้สมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ และชิ้นส่วนแตกหักของสถาปัตยกรรม ที่ใช้ตกแต่งโบราณสถานเป็นจำนวนมาก พบที่วัดวังทอง อำเภอวังทองจังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันโบราณวัตถุดังกล่าวอยู่ในความดูแลของหอสมุดประชาชนสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
- เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีบ้านวังทอง
จากจังหวัดพิษณุโลกไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงสายพิษณุโลก-หล่มสัก เลี้ยวขวาก่อนถึงที่ว่าการอำเภอวังทอง ผ่านหน้าวัดวังทอง ตรงไปทางทิศใต้อีกประมาณ ๑ กิโลเมตร