แหล่งโบราณคดีภาคเหนือ - แหล่งโบราณคดีเขาสมอแครง
แหล่งโบราณคดีเขาสมอแครง
ภาค ภาคเหนือ
จังหวัด พิษณุโลก
- สถานที่ตั้ง ในตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
- ประวัติความเป็นมา
หลักฐานพงศาวดารและตำนานกล่าวว่า แหล่งโบราณคดีเขาสมอแครงเป็นชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยพุทธกาล ส่วนหลักฐานโบราณคดีพบว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ร่วมสมัยทวาราวดี ลพบุรี สุโขทัย และอยุธยา
- ลักษณะทั่วไป
เขาสมอแครงเป็นภูเขาลูกเดียว ตั้งตามแนวเหนือ-ใต้ มีความสูงวัดจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๐เมตร ด้านใต้มีบันไดและทางรถยนต์ขึ้นไปจนถึงยอดเขา ซึ่งมีความลาดชันประมาณ ๖๐ องศา บนภูเขามีวัดโบราณประมาณ ๗ วัด ตั้งเรียงรายในป่ามีไม้เบญจพรรณ จำพวกเต็งรัง ตะแบก ฯลฯ ส่วนรอบ ๆ เขาสมอแครงพบร่องรอยชุมชนโบราณและวัดโบราณหลายแห่ง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
- หลักฐานที่พบ
พบหลักฐานโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญดังนี้
๑. หลักฐานเอกสารกล่าวว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปฉันจังหันใต้ต้นสมอ ณ บริเวณเขาสมอแครง และองค์เจดีย์บนเขาสมอแครงยังเป็นที่บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ทั้งสอง คือ พระอุบาลีเถระและพระศิริมานนท์เถระ
๒. บนเขาสมอแครง เดิมมีวัดโบราณมากถึง ๗ วัด แต่ปัจจุบันเหลือ ๔ วัด คือ วัดตระพังนาค วัดสระสองพี่น้อง (เป็นวัดที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างไว้) วัดพระพุทธบาท และวัดร้างบนยอดเขาสมอแครง และองค์เจดีย์บนเขาสมอแครง หรือวัดเจดีย์ยอดด้วน เป็นวัดเก่าแก่สมัยสุโขทัย ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง
๓. พบหลักฐานโบราณวัตถุสำคัญบนเขาสมอแครง เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง รอยพระพุทธบาทเครื่องถ้วย สระน้ำโบราณ ศิลปะสมัยทวาราวดี สุโขทัย อยุธยา
- เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีเขาสมอแครง
จากจังหวัดพิษณุโลกไปทางทิศตะวันออก ตามเส้นทางหลวงสายพิษณุโลก-หล่มสัก ประมาณกิโลเมตรที่ ๑๔