แหล่งโบราณคดีภาคเหนือ - วัดชมชื่น
วัดชมชื่น
ภาค ภาคเหนือ
จังหวัด สุโขทัย
- สถานที่ตั้ง อยู่ริมแม่น้ำยมห่างจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง มาทางทิศตะวันออกประมาณ ๔๐๐ เมตร ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
- ลักษณะสำคัญ
เจดีย์ประธานทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง มีวิหารอยู่ด้านหน้าก่อด้วยศิลาแลงขนาด ๖ ห้อง มีมุขยื่นออกมาหน้าห้อง ด้านหลังพระวิหารเชื่อมต่อกับมณฑป ลักษณะมณฑปย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาใช้ศิลาแลงก่อเหลื่อมเข้าหากันเป็นรูปโค้งแหลม ด้านหน้าเป็นทางเข้าไปในมณฑป มีพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ด้านหน้าทั้งสองข้างมณฑปทำเป็นซุ้มจรนัม ๒ ซุ้ม ด้านหลังมีซุ้มจรนัม ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก แต่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันหลังคาด้านหลังมณฑป
ถึงแม้รูปแบบปัจจุบันเป็นลักษณะของศิลปะสมัยสุโขทัย แต่การขุดแต่งบริเวณวิหารพบฐานอาคารเดิมก่อด้วยอิฐแต่ต่อมาถูกสร้างด้วย ศิลาแลง จากการศึกษาแบบภายในเจดีย์ประธานของศาสตราจารย์ ซอง บอสเซลิเย่ ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นปรางค์แบบขอมมาก่อน เนื่องจากพบอาคารสี่เหลี่ยมมีซุ้มคล้ายปรางค์แบบเขมรอยู่ภายในองค์เจดีย์
- หลักฐานที่พบ
พบโครงกระดูกมนุษย์ จำนวน ๑๒ โครง ในระดับลึก ๗-๘ เมตร กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙ เป็นต้นมา และพัฒนาจนถึงสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖) พบกลุ่มโบราณสถานก่อด้วยอิฐมีขนาดใหญ่ และพบเครื่องถ้วยเชลียงจำนวนมาก ซึ่งกำหนดอายุได้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา จนเข้าสู่ยุคสุโขทัยที่ร่วมสมัยกับวัดชมชื่น
- เส้นทางเข้าสู่วัดชมชื่น
จากตัวเมืองสุโขทัยไปทางทิศเหนือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๑ ประมาณ ๕๕ กิโลเมตร