แหล่งโบราณคดีภาคเหนือ - วัดศรีสวาย
วัดศรีสวาย
ภาค ภาคเหนือ
จังหวัด สุโขทัย
- สถานที่ตั้ง อยู่ทางทิศใต้ของวัดมหาธาตุ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
- ประวัติความเป็นมา
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสวัดศรีสวาย ทรงพบรูปพระสยมภู พระศิวะ ในวิหารและหลักไม้ที่ปักอยู่ในโบสถ์จึงทรงสันนิษฐานว่า … เดิมคงเป็นโบสถ์พราหมณ์ใช้ในพิธีโล้ชิงช้า (ตรียัมปวาย) สระน้ำที่โอบล้อมกลุ่มโบราณสถานด้านหลัง ชาวบ้านเรียกว่า สระลอยบาป ตามลัทธิพราหมณ์ ถือว่าทุกคนมีบาป ปีหนึ่ง ๆ จะต้องทำพิธีลอยบาปหรือล้างบาปกันครั้งหนึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า วัดนี้คงเป็นเทวสถานและคงมีชื่อเรียกว่า ศรีศิวายะ ซึ่งหมายถึงพระศิวะ
- ลักษณะทั่วไป
กลุ่มโบราณสถานนี้ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมที่สง่างามแบบศิลปะลพบุรี คือ พระปรางค์ ๓ องค์เป็นประธาน ด้านหน้ามีวิหาร ๒ ตอน มีกำแพงแก้วล้อมองค์ปรางค์และส่วนหนึ่งของวิหารตอนในไว้ ด้านทิศตะวันตกมีฐานวิหารอีกหนึ่งแห่ง มีสระน้ำกว้างและยาวโอบล้อมกลุ่มโบราณสถาน บริเวณพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมของโบราณสถานล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงอีกชั้น หนึ่ง
- หลักฐานที่พบ
จากการขุดแต่งบูรณะของกรมศิลปากร ได้พบทับหลังศิลาจารึกเป็นพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ขนาดเล็ก
- เส้นทางเข้าสู่วัดศรีสวาย
จากศาลากลางจังหวัดสุโขทัยไปทางทิศตะวันออกตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๖ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร