แหล่งโบราณคดีภาคเหนือ - วัดพระพายหลวง
วัดพระพายหลวง
ภาค ภาคเหนือ
จังหวัด สุโขทัย
- สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
- ประวัติความเป็นมา
วัดพระพายหลวงเดิมเป็นเทวสถาน เนื่องจากพบชิ้นส่วนของเทวรูปและฐานศิวลึงค์ต่อมาปรับเปลี่ยนมาเป็นวัดในพระ พุทธศาสนาแบบมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
- ลักษณะทั่วไป
เป็นกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองสุโขทัย และเป็นกลุ่มโบราณสถานที่เก่าที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง ๓ องค์ เป็นศิลปในยุคเดียวกับศิลปะเขมรแบบบายน
โบราณสถานที่สำคัญคือ วิหาร ๕ ห้อง อยู่ด้านหน้าปรางค์ เจดีย์ทรงเหลี่ยมแต่ละชั้นมีพระพุทธรูปนั่งลดหลั่นอยู่ภายในทั้ง ๔ ซุ้ม รอบเจดีย์มีระเบียงคด และมีร่องรอยตั้งพระพุทธรูปปูนปั้น ถัดจากเจดีย์เหลี่ยมมีมณฑปก่ออิฐ มีพระพุทธรูปปูนปั้นเป็นพระพุทธรูปยืนติดกับด้านหน้ามณฑป ๕ องค์ ที่ปรากฏชัดเจนคือพระพุทธรูปปางลีลา ถัดจากมณฑปมีวิหารพระนอน และมีวิหารเจดีย์ราย มีคูน้ำล้อมรอบวัดทั้ง ๔ ด้าน
- หลักฐานที่พบ
พบพระพุทธรูปแกะสลักปางนาคปรก และตรงด้านหน้าพระวิหารยังพบพระพุทธรูปสลักหินองค์ใหญ่ปางสมาธิเฉพาะส่วน ล่างขององค์พระ ลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างขึ้นไปประดิษฐานตามเมืองต่าง ๆ
- เส้นทางเข้าสู่วัดพระพายหลวง
จากศาลากลางจังหวัดสุโขทัยไปทางทิศตะวันตก ตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๖ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร