ค้นหา
เมนู
- หน้าหลัก
- หมวดหมู่
- ภัยพิบัติ (65)
- ธรรมชาติ (286)
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (172)
- สังคม (2814)
- วัฒนธรรม (3270)
- ความรู้พื้นฐานทางวัฒนธรรม (19)
- ชาติพันธุ์ (531)
- ประเพณี (780)
- ภูมิปัญญาไทย (1652)
- เครือข่ายทางวัฒนธรรม (204)
- วัฒนธรรมหลวง (17)
- เนื้อหาวัฒนธรรมรอจัดหมวด (0)
- ศิลปะและการบันเทิง (699)
- ศาสนาและจิตวิญญาณ (7090)
- เนื้อหารอจัดหมวด (26)
- ค้นหาชั้นสูง
- บริจาคเนื้อหา
- เกี่ยวกับโครงการ
ล็อกอิน
กว่าง แมลงนักสู้ผู้สง่างาม
กว่าง แมลงนักสู้ผู้สง่างาม
ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง - ผู้เขียน
ฤดูฝนอันชุ่มฉ่ำ ส่งให้มวลต้นไม้เขียวขจี แตกกิ่งก้านสาขา งอกงามเพื่อออกดอก ออกผล เหล่าไม้ยืนต้นมีอายุเพิ่มขึ้นอีกขวบปี ลูกไม้เล็กๆ พร้อมจะเจริญเติบโต เป็นต้นใหม่ แมลงหลายชนิดถึงวงจร โตเป็นตัวเต็มวัย กลายเป็นวัยเจริญพันธุ์เพื่อสืบลูกหลานต่อไป ถ้าเรายกให้แมลงทับผู้มีสีสันสวยงามเป็นราชินีแห่งมวลแมลงทั้งหลาย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าราชาของแมลง คือ กว่าง นั่นเอง ด้วยมีรูปร่าง สีสัน สวยงาม ลีลาท่าทางสง่างาม ไม่ต่างไปจากการเยื้องย่างของม้าเลย
กว่าง เป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่มาพร้อมกับสายฝน ผู้คนต้อนรับ อย่างเป็นมิตร ด้วยวงจรของกว่าง ไม่ได้เป็นศัตรูแก่เกษตรกร แต่กลับ มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับชาวชนบทภาคเหนือ โดยเฉพาะ
กว่างเป็นแมลงตระกูลด้วงปีกแข็ง ตัวผู้จะมีลักษณะสง่างาม ความเป็นนักสู้ที่มีลีลาการต่อสู้ ที่คล่องแคล่วความมีเสน่ห์ ของกว่างนอกจากรูปร่างท่าทางแล้วยังเป็นแมลงชนิดเดียวที่อยู่ภายใต้อาณัติการ ควบคุมของคน ไม่ว่าต้องการให้เดินไป ทางซ้าย ขวา หน้า หรือหลัง กว่างทำได้ดั่งใจคนเสมอ ด้วยเหตุนี้ กว่างจึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนเสมอมา
กว่างจะมีวงจรในรอบหนึ่งปี ในระยะที่เป็นตัวหนอนหรือตัวด้วงจะมีสีขาว ตัวโต มีความยาวประมาณ 5 - 6 เซนติเมตร และเส้นรอบวง ประมาณ 1 นิ้ว ในช่วงนี้จะอยู่ในดินชอบกินเศษใบไม้ผุ ตอไม้หรือต้นไม้ที่ผุ เป็นการช่วยธรรมชาติในการย่อยสลายใบไม้ต้นไม้ให้กลายเป็นปุ๋ยแก่ดินได้เป็น อย่างดี ต่อมากลายเป็น ดักแด้และตัวเต็มวัยเป็นวัยเจริญพันธุ์พร้อมสืบเผ่าพันธุ์ได้ ในช่วงที่เป็น ตัวหนอนถึงตัวเต็มวัยใช้เวลา ประมาณ 1 - 2 เดือน ก่อนที่จะถึงฤดูฝน เมื่อฝนตกลงมาทำให้ดินอ่อน
ด้วงกว่างที่เจริญเติบโตเต็มที่ก็จะดันดินออกมาสู่โลกภายนอกเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่และเพื่อการผสมพันธุ์ กว่างตัวผู้ที่แข็งแรงเท่านั้นที่มีโอกาสรอดเพื่อการผสมพันธุ์ โดยกว่างจะต่อสู้เพื่อแย่งชิงตัวเมียและฝ่ายที่ชนะ ก็จะได้รับรางวัลได้ผสมพันธุ์กับตัวเมีย เป็นการคัดเลือกสายพันธ์ที่ดีตามธรรมชาติ
กอนกว่าง เป็นแหล่งหาอาหารของกว่างที่โตเต็มวัย มักพบเจอกว่างบริเวณกอไผ่ที่มีหน่อไม้ เด็ก ๆ ที่ชอบ เล่นกว่างมีวิธี จับกว่าง โดยใช้เกิ๋นพาดไปยังกอไผ่แล้วปีนขึ้นไป เขย่าให้กว่างที่เกาะอยู่หล่นลงมา ผู้อยู่ข้างล่าง ก็จะวิ่งเก็บ นอกจากพบเจอกว่าง บริเวณกอไผ่แล้วยังสามารถหากว่างได้ตามต้นคราม ที่มีดอก สีน้ำเงิน ชาวบ้าน นิยมนำมาทำเป็นสีย้อมเสื้อผ้าหม้อฮ่อม อาหารที่กว่างชอบเป็นพิเศษ ได้แก่ หน่อไผ่ ใบคราม หรือเปลือกไม้อื่น ๆ เช่น ไม้แพ่ง ไม้มะกอก เป็นต้น
หลังจากได้กว่างมาจากป่าแล้วชาวบ้าน โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะนำมาเลี้ยง โดยผูกเชือกที่เขากว่างติดกับไม้ และให้อาหาร ที่กว่างชอบ คือ อ้อย
กว่างตัวเมียเหยื่อล่อตามธรรมชาติ ชื่อกว่างแม่อีลุ้ม เป็นกว่างที่ไม่มีเขา แต่มีเสน่ห์ยั่วยวนใจแก่กว่างตัวผู้ ทั้งหลายอันได้แก่
กว่างกิกว่างตัวเล็ก เขาสั้น ไม่สมบูรณ์
กว่างแซม มีลักษณะดี ท่าทางสง่างาม คล่องแคล่ว ตัวขนาดกลาง
กว่างซ่ง เป็นกว่างที่มีลักษณะดีที่สุด ตัวโต สง่างาม เขายาว สีสันสวย
สีของกว่างจะมีสีแดงเปลือกมังคุด มันเงา ไปจนถึงสีดำมันเงาเหมือนสีของเฟอร์นิเจอร์ เช่น เปียโน หรือเครื่องเสียงชั้นดีจากต่างประเทศ ที่เป็นสีมะฮอกกานี สีแดงของไม้มะค่า กว่างบางตัวมีสีดำเหมือน สียางไม้รัก ชาวบ้านเรียกชื่อกว่างตามสี เช่น ถ้ากว่างสีดำออกแดงเรียกว่ากว่างรักน้ำใส ถ้าสีดำสนิทเรียกว่า กว่างรักน้ำปู๋
กว่างให้ความบันเทิงใจแก่ผู้คน มีเกมการแข่งขันที่ชาวบ้านนิยมเล่นกัน เรียกว่า ชนกว่าง นิยมเล่นในช่วงหน้าฝนที่มีกว่างออกมาก
ชนกว่างเป็นเกมการแข่งขันที่เร้าใจชวนติดตามไม่น้อยกว่ามวยไทย เป็นสงครามตัวแทนความเป็น ลูกผู้ชาย และการเป็นนักสู้ ผู้ชายกับการแข่งขัน สักนิดหน่อยก็พึงพอใจ การเอาชนะ ศักดิ์ศรีกับเกมการแข่งขัน คือ อารมณ์ลึกแห่งบุรุษเพศมีภาษาที่ใช้ในเกมแข่งขัน ได้แก่ เปรียบกว่าง เป็นการเทียบรุ่นและขนาดของกว่าง ก่อนการต่อสู้
ยากว่าง คือ ใช้ไม้ผั่นสะกิดขาหลัง ก้น หรือลำตัวด้านข้าง เพื่อให้กว่างที่กำลังต่อสู้กันแล้วกำลังได้ เปรียบคู่ต่อสู้ ปล่อยอีกฝ่ายที่เสียเปรียบ ถ้าใช้ไม้กรีดไปตามร่องอก หรือหว่างขาทำให้กว่างมีอาการคึกคัก อยากต่อสู้ เป็นการไสกว่างให้ชนกัน ดูแล้วสนุกเหมือนดูหนังเรื่องพระสุริโยทัยตอนไสช้างชนกัน
ใส่น้ำ เหมือนการให้น้ำนักมวย โดยคนที่เป็นเจ้าของกว่างอมน้ำในปากแล้วเป่าหรือพ่นใส่หน้าอกหรือ ลำตัวของกว่าง เพื่อให้กว่างที่ต่อสู้มีอาการดีขึ้นและพร้อมสู้ต่อไป
ความ คือ อาการที่กว่างใช้เขาหนีบต่อสู้กัน โดยใช้เขาล็อคอีกฝ่ายไว้และต่างฝ่ายต่างหนีกัน เจ้าของกว่าง อาจตกลง กติกากันว่า ในการแข่งขันแต่ละครั้งจะสู้กันกี่ความ เช่น สามความ ห้าความ แต่บางครั้ง อาจไม่นับ ความ แต่จะถือการแพ้ชนะจากการที่กว่างอีกฝ่ายถอยและไม่ยอมสู้ บางครั้ง สู้กันจนกว่างตายก็มี
อมคอ หมายถึง กว่างใช้เขาหนีบคอต่อหรือคอด้านข้างของคู่ต่อสู้ไว้
กว่างแล่น คือ กว่างคึกคักด้วยเสียงดนตรีจากการเชียร์ โดยคนเคาะจังหวะจากไม้เคาะจังหวะ หรือไม้ผั่น ในระหว่างการต่อสู้ อาการพร้อมสู้ของกว่างสังเกตจากหนวดเล็ก ๆ ที่อยู่ด้านล่างเขาของกว่างชาวบ้านเรียกว่า กล้องปู้ยา ถ้ากล้องปู้ยาของกว่างดิ้นแสดงว่ากว่างกำลังคึกคัก มีความตื่นตัวเต็มที่ เดินเข้าหาคู่ต่อสู้ กว่างจะเดิน แบบย่างสามขุม สง่างาม มีลีลาโยกซ้าย โยกขวา เหมือนนักมวยไทย แต่ถ้าเมื่อใดกล้องปู้ยาไม่กระดิกแสดงว่า กว่างยอมแพ้ ไม่สู้ ควรพากลับบ้าน
อุปกรณ์การชนกว่างมี
1. กอนกว่าง ทำจากไม้เนื้ออ่อนตากให้แห้งนิยมใช้ไม้งิ้ว(นุ่น) ยาวประมาณ 1 เมตร เจาะตรงกลางไม้ ให้เป็นรูใส่กว่าง
ตัวเมีย(กว่างแม่อีลุ้ม)ใช้ล่อกว่างตัวผู้ให้คึกคักพร้อมต่อสู้เพื่อเป็นเจ้าของกว่างตัวเมีย กอนกว่าง ใช้เป็นสนาม ประลองชัยในการต่อสู้
2. ไม้ผั่น ทำจากไม้ไผ่หรือไม้สัก เหลาให้กลม ขนาดความยาวประมาณ5 - 6 นิ้ว ตรงปลายหุ้มด้วยโลหะ ให้คลอน เพื่อให้ มีเสียงดังหริ่ง ๆ ๆ บางคนเรียกว่า ไม้หริ่ง ใช้บังคับกว่างให้สู้ เช่น เดินหน้า ถอยหลัง
3. ไม้เคาะจังหวะ จะทำไปไม้เล็ก ๆ คล้ายตะเกียบ ใช้เพื่อเคาะจังหวะ จะเคาะตรงกอนกว่างใช้เคาะจังหวะ เมื่อเคาะ แล้วมีเสียงดัง โป๊ก ๆ ๆ
การใช้ไม้ผั่นและไม้เคาะจังหวะ คล้ายกับการโหมโรงของมวยไทยเพื่อให้นักสู้เกิดความคึกคะนอง มีความฮึกเหิมอยากต่อสู้
นอกจากการชนกว่างที่มีกฎ กติกา มีอุปกรณ์การเล่นแล้วยังมีศิลปะตามวิถีชาวบ้าน เพื่อความสวยงาม ตามวิถี และวิสัยของคนไทยที่ชอบสร้างสรรค์แบบวิจิตร เช่น การแกะสลักไม้แขวนกว่าง มีเทคนิคการปอกอ้อย สำหรับเป็นอาหารกว่าง หลุมหยอดน้ำอ้อยให้อาหารกว่าง โดยแกะไม้ให้เป็นหลุมกว้าง 1 เซนติเมตร ลึก 2 - 3 มิลลิเมตร แล้วเอาน้ำอ้อยหยอดในหลุมให้กว่างกินเป็นการบำรุงกว่างก่อนขึ้นสังเวียน
บางคนที่ไม่นิยมเกมการต่อสู้ กว่างก็มีประโยชน์ในแง่โภชนาการได้อีกด้วย โดยนำมาคั่วใส่น้ำและเกลือ เล็กน้อยคั่วให้แห้ง ในตัวกว่างมีน้ำมันตามธรรมชาติอยู่แล้วจะทำให้มัน กรอบ อร่อย แต่ถ้าจะให้อร่อยยิ่งขึ้น ก็นำมะพร้าวให้กว่างกินก่อนจากนั้นจึงนำกว่างไปคั่ว จะเพิ่มรสชาติได้ดีกว่าเดิม ผู้คนที่เดินทางผ่านลำปางไปเชียงใหม่สามารถแวะชิมกว่างคั่วได้ที่ตลาดอาหารป่าทุ่งเกวียน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ซึ่งมีราคาไม่แพงนัก
นอกจากกว่างจะให้คุณค่าทางจิตใจในเกมการแข่งขัน และเป็นอาหารอร่อยอีกอย่างของชาวบ้านแล้ว กว่างยังเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้แก่ผู้เป็นเจ้าของ เพราะในฤดูเล่นกว่าง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่ ต่างก็หวังที่จะครอบครองกว่างจึงทำให้กว่างมีราคาสูงตาม ความพอใจของผู้ซื้อขาย ในจังหวัดทางภาคเหนือ หาซื้อกว่างได้ง่ายตามตลาดทั่วไป เคยมีชาวญี่ปุ่นที่หลงใหลซื้อกว่างในราคาเรือนแสนเลยทีเดียว