วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ใส่ตุ้มปลาไหล
ศรี จันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

การมีวิถีชีวิตเรียบง่าย กลมกลืนกับธรรมชาติ นับเป็นความสุขสงบอย่างยิ่ง ด้วยธรรมชาติไม่เคยเอาเปรียบคน ธรรมชาติมักสรรสร้างสิ่งมีคุณให้เพียงพอกับการดำรงชีวิตของผู้คนเสมอมา ในทุกฤดูกาลที่หมุนเวียนคนเราต่างได้เลือกเสพเลือกใช้ของขวัญที่ธรรมชาติมอบ ให้ โดยเฉพาะผู้คนในท้องถิ่นชนบท

วันก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับชาวบ้านนิคมสร้างตนเองกิ่วลม เรื่องอาหารการกิน พวกเขาบอกว่าสามารถหากินได้ทั้งปี ยิ่งถ้าใครขยันหา ก็แทบไม่ต้องใช้เงิน โดยเฉพาะหน้าฝนเป็นช่วงที่อาหารอุดมสมบูรณ์ที่สุด เมื่อเริ่มมีฝนสิ่งมีชีวิตก็เริ่มงอกงาม ไม่ว่าจะเป็นเห็ดป่า หน่อไม้ พืชไร่ และปลา เป็นต้น ชาวบ้านเก็บสะสมอาหารไว้เพื่อกินตลอดทั้งปี เช่น หน่อไม้ดิบก็นำมาซอยและดองเป็นหน่อไม้ดอง หน่อไม้อัดปิ๊บ หรือบางคนนำไปเผาไฟแล้วนึ่งให้สุก ฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากให้แห้ง เก็บไว้ใส่แกงแคตอนหน้าแล้งอร่อยยิ่งนัก เห็ดป่านานาชนิดที่มีให้เลือกเก็บในช่วงฝนก็สามารถนำมาทำเป็นเห็ดตากแห้ง เก็บไว้กินได้เช่นกัน ส่วนปลานำมาทำปลาร้า ปลาเค็มหรือปลาแห้งได้อีก หมดฝนย่างสู่หนาวมีพวกเห็ดขอนไม้ เห็ดลม ช่วงหน้าแล้งมีพวกผักลิ้นแลน หน่อหุ้นไฟ หรือหน่อที่เกิดจากต้นไผ่ที่ถูกไฟเผา เป็นหน่อเล็ก ๆ แกงกับยอดฟักทองได้อร่อยมาก
   
นอกจากนี้ ชาวบ้านที่นี่ได้อาศัยจากแหล่งน้ำในหมู่บ้านที่มีตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นในท้องไร่ท้องนา ลำห้วย หนอง คลองต่าง ๆ มีสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปูปลา ให้เลือกกินปลา
ไหลหรือ ปลาหยั่น ที่ชาวบ้านเรียก เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่สามารถหากินได้ในทุกช่วงฤดูกาล เพียงแค่ช่วงไหนจะมีมากหรือน้อยเท่านั้น ถึงแม้ว่าปลาไหลได้ชื่อว่าเป็นปลาที่จับยาก มีความลื่นไหลแต่ก็ยังแพ้ทางคนที่ฉลาด คิดค้นเครื่องมือวิธีการหลอกล่อปลาไหลจนอยู่หมัด เครื่องมือชนิดนี้ชาวบ้านเรียกว่า "ตุ้ม"

ตุ้ม เป็นเครื่องมือดักปลาไหลโดยเฉพาะ สานด้วยไม้ไผ่เป็นรูปแจกันทรงกรวย มีขนาดความสูงประมาณ 1 ฟุต ความกว้าง 8 - 10 นิ้ว ชาวบ้านจะสานงาไว้ด้านข้างใกล้กับฐาน เพื่อให้ปลาไหลเข้าไปกินอาหารที่ใส่ไว้ในตุ้มส่วนด้านบนมีงาปิดไว้เพื่อไม่ ให้ปลาไหลที่เข้าไปในตุ้มออกมาได้ งา หรือฝาปิดรูของตุ้มสานด้วยไม้ไผ่เป็นรูปทรงกรวยทำเป็นรูเล็ก ๆ อยู่ตรงกลาง ส่วนตรงปลายปิดด้วยไม้ไผ่ งาจะเล็กกว่ารูด้านบนและด้านข้าง งามีสองที่ ด้านข้างใส่เพื่อเป็นทางเข้า แต่เมื่อปลาไหลเข้าไปแล้ว ก็ไม่สามารถออกจากตุ้มได้เนื่องจากติดปลายงาที่เป็นไม่ไผ่แหลม ส่วนทางปากตุ้มด้านบนเป็นที่ใส่เหยื่อล่อปลาไหล เหยื่อล่อปลาไหล ได้แก่ ไส้เดือนดินและปูนา นำมาตำให้เละ ห่อด้วยผ้าขาวบาง เมื่อปลาไหลได้กลิ่นเหยื่อล่อก็จะเข้าไปกินอาหาร แต่ก็ไม่สามารถกินอาหารได้เพราะห่อด้วยผ้า วิธีนี้ทำให้ชาวบ้านสามารถนำเหยื่อไปใช้ล่อปลาไหลได้อีกหลาย ๆ ครั้ง

ตุ้มหนึ่งอันสามารถดักปลาไหลได้ครั้งละประมาณ 3 - 4 ตัว หรือมากกว่าแล้วแต่ความชุกชุมของปลา การวางตุ้มจะวางในลักษณะตั้งเหมือนกับการตั้งแจกันทรงสูง จะวางไว้ตามริมคันนา หนองน้ำ หรือที่ค่อนข้างรกเพราะปลาไหลชอบอยู่ในหนองน้ำที่รกมากกว่าพื้นที่โล่ง ปลาไหลจะอาศัยอยู่ในดิน ออกหากินตอนกลางคืน ชาวบ้านจึงมักใส่ตุ้มในเวลาประมาณ 4 - 5 โมงเย็น และไปล้อนหรือเก็บตุ้มอีกครั้งในตอนเช้า จากนั้นนำปลาไหลที่ได้ไปขายในตลาดใกล้เคียง ได้ราคากิโลกรัมละประมาณ 80 - 120 บาทแล้วแต่ช่วงที่มีปลามากราคาก็จะถูกช่วงไหนหายากราคาก็จะแพง อาหารโปรดของปลาไหลคือ ซากสัตว์ในน้ำ

ปลาไหลถึงแม้จะลื่นขนาดไหนก็ยังแพ้ใบข่อย ชาวบ้านใช้ใบข่อยรูดตัวปลาไหลเพื่อให้เมือกตามตัวปลาไหลออก จากนั้นจึงนำไปปรุงอาหาร อาหารเลิศรสจากปลาไหลสามารถนำมาปรุงได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผัดเผ็ดปลาไหลรสเด็ด ต้มส้มรสแซบ แกงแคปลาไหล หรือนำมาปิ้งสูตรชาวบ้าน มีขั้นตอนง่าย ๆ และอร่อยได้ไม่ยาก ปลาไหลปิ้งสูตรชาวบ้านมีวิธีการทำดังนี้

     1. ทุบปลาไหลให้แบน
     2. นำมาตัดเป็นท่อน ๆ ขนาดตามความพอใจ
     3. นำเครื่องเทศ ได้แก่ กระเทียม ขมิ้น ตะไคร้ เกลือ มาโขลกให้ละเอียด
     4. คลุกปลาไหลกับเครื่องเทศให้เข้ากัน
     5. นำไปย่างบนไฟอ่อน ๆ คอยพลิกปลาอย่าให้ไหม้

ปลาไหลปิ้งสีเหลือง ๆ หอมกลิ่นเครื่องเทศอ่อน ๆ เนื้อนิ่ม ๆ รสชาติอร่อยถูกปาก กินกับคนรู้ใจพร้อมเหล้าในไหที่ทำเก็บไว้กินเอง ความสุขก็เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ จนลุงรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญในการใส่ตุ้มปลาไหล บอกกับผู้เขียนว่า เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

เป็นดังที่ผู้คนต่างกล่าวขาน ว่าราชาแห่งความอร่อยของปลา คือ ปลาไหลนั่นเอง