ธรรมชาติของจิต (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/03/2008
ที่มา: 
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=4303

 

ธรรมชาติของจิต

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จิตตภาวนาการปฏิบัติอบรมจิตนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงสั่งสอนไว้ โดยที่ได้ตรัสไว้มีใจความว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา แต่ว่าจิตนี้วิมุติหลุดพ้นจากอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายได้ อาศัยการปฏิบัติทำจิตตภาวนาคืออบรมจิต

ทุกๆ คนต่างมีกายกับจิตประกอบกันอยู่ จิตนั้นท่านเปรียบเหมือนอย่างคนพายเรือ กายนั้นเปรียบเหมือนอย่างเรือ เรือจะไปทางไหนก็ต้องอาศัยคนพายเรือ พายเรือไป ฉันใด ทุกคนก็ฉันนั้น ร่างกายจะไปทางไหนจะทำอะไร ก็จิตนี้เองเป็นผู้สั่ง เป็นผู้บงการ เช่นโดยเจตนาคือความจงใจให้ทำนั่นให้ทำนี่ต่างๆ จิตจึงเป็นส่วนสำคัญมากที่ทุกๆ คนมีอยู่

๏ ปรกติของคนเป็นอย่างนี้

และจิตนี้เองที่ต้องเศร้าหมองไป เพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามาอาศัยอยู่ในจิต ปรากฏเป็นกิเลสอย่างละเอียด อันเรียกว่า อาสวะ กิเลสที่ดองจิต หรืออนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตบ้าง โดยเป็นกิเลสอย่างกลางคือเป็นนิวรณ์ คือกิเลสที่ปรากฏเป็นความโลภความโกรธความหลงต่างๆ บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมอยู่ในจิต ที่ทุกคนก็รู้ว่าจิตของตนมีโลภบ้างมีโกรธบ้างมีหลงบ้าง

หรือที่เป็นกิเลสที่รุนแรง ก็คือโลภโกรธหลงนั้นเองที่รุนแรง จนถึงก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรมออกไปเป็นภัยเป็นเวรต่างๆ เช่นผิดศีล ๕ คือฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง ประพฤติผิดในกามทั้งหลายบ้าง พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง ซ้ำยังแถมดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยยาเสพติดให้โทษต่างๆ เพิ่มความมัวเมาประมาทให้มากขึ้น ปรกติของคนเป็นอยู่อย่างนี้

ฉะนั้น จิตเองที่เป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง จึงกลายเป็นจิตที่ไม่ผุดผ่อง แต่กลายเป็นจิตที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส ทั้งจิตนี้เองนอกจากเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่องแล้ว ยังเป็นวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ด้วย ฉะนั้น เมื่อเศร้าหมองไปไม่ผ่องใส จึงกลายเป็นความมึนซึม โง่เขลา ไม่รู้ ซึ่งความไม่รู้นี้ก็หมายถึงว่าไม่รู้สัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง

ความไม่รู้นี้ของคนสามัญที่มีกิเลสทั่วไป ก็มีอวิชชาคือความไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง เป็นหัวหน้าใหญ่ เป็นตัวการใหญ่ นำให้เกิดโมหะคือความหลงถือเอาผิดต่างๆ ถือเอาดีเป็นชั่ว ถือเอาชั่วเป็นดี ถือเอาสุขเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นสุข ถือเอาเหตุเกิดทุกข์ว่าเป็นเหตุเกิดสุข ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

เพราะฉะนั้น จึงต้องประสบความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ ความชั่วร้ายต่างๆ จิตที่เป็นธาตุรู้ ก็กลายเป็นไม่รู้ กลายเป็นโง่เขลา จิตที่ปภัสสรก็กลายเป็นเศร้าหมอง จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ทุกคนมีของดีอยู่แล้วติดตัวมาเป็นธรรมชาติคือจิตดังกล่าว ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง เป็นวิญญาณธาตุคือธาตุรู้

๏ ธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิต

การที่จิตที่มีธรรมชาติอันดีอย่างยิ่งกลับกลายไปเช่นนั้น ก็เพราะจิตนี้มีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งคือว่าน้อมไปได้ น้อมไปดีก็ได้ น้อมไปไม่ดีก็ได้ หากน้อมไปไม่ดีบ่อยๆ ก็ทำให้เคยชินติดอยู่ในความไม่ดี แต่ถ้าหากว่าหัดน้อมมาในทางดีบ่อยๆ ก็จะทำให้ติดอยู่ในทางดี อันตรงกันข้าม

แต่ก็เป็นเคราะห์ดีของทุกๆ คนที่มีจิตเป็นธาตุรู้ดังกล่าวนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อได้ประสบพบผ่านสุขทุกข์ต่างๆ มาบ่อยๆ ครั้งเข้า ได้ทำดีทำชั่วต่างๆ มาบ่อยครั้งเข้า และก็ได้รับผลเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์จากกิเลสในใจ ที่เรียกว่าอุปกิเลสนั้น และจากกรรมที่ประกอบกระทำออกไปทางกายทางวาจาทางใจ จึงทำให้จับเหตุจับผลได้บ้างตามสมควร ว่ากิเลสนั้นให้เกิดทุกข์ แต่ความสงบกิเลสให้เกิดสุข กรรมชั่วนั้นให้เกิดทุกข์ กรรมดีนั้นให้เกิดสุข

และทั้งตนเองก็มีธรรมชาติของตนเองอยู่คือรักตน ต้องการให้ตนเป็นสุขไม่เดือดร้อน และไม่ต้องการให้ใครมาก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง ต้องการให้ใครๆ มาเกื้อกูลตนเอง และนอกจากตนเองแล้ว ตนเองยังรักคนที่ควรรักทั้งหลาย เช่นว่ามารดาบิดารักบุตรธิดาของตน เมื่อรักใครก็ต้องการให้คนที่รักนั้นเป็นสุขมีความเจริญ ไม่ต้องการให้มาทำลายล้าง ต้องการให้ใครๆ มาเกื้อกูลตนให้ตนมีความสุขความเจริญ ไม่ต้องการให้ใครมาทำลายล้างเช่นเดียวกัน

แต่ว่าเพราะโมหะคือความหลง เพราะอวิชชาคือความไม่รู้จริง จึงทำให้ไม่นึกถึงจิตใจของคนอื่นว่าเป็นเช่นเดียวกัน ยังไปทำร้ายคนอื่น ทั้งที่ไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายตน แต่ถ้าหากว่ารู้จักนึกเทียบเคียงดู ว่าตนเองต้องการฉันใด คนอื่นก็ต้องการฉันนั้น ตนเองรักสุขเกลียดทุกข์ คนอื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อตนเองต้องการสุข ไม่ต้องการให้ใครมาก่อทุกข์ให้ ตนเองก็ไม่ควรจะไปก่อทุกข์ให้แก่ใครๆ แต่ก่อสุขให้แก่ใครๆ เมื่อคิดดั่งนี้ก็จะทำให้รู้สึกถึงการควรทำไม่ควรทำอันเกิดจากตนเองในทางที่ถูกที่ชอบ

๏ บารมี อาสวะ

คนเรามีธาตุรู้ที่จะคิดได้ดั่งนี้ ทั้งเมื่อได้มาพบพระพุทธศาสนา ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งสั่งสอนให้ละชั่ว ให้ทำดี ให้ชำระจิตใจของตนบริสุทธิ์ผ่องใส ก็จะทำให้มีความสนใจนำมาใคร่ครวญ และปฏิบัติตาม ก็จะเป็นเครื่องนำให้จิตใจนี้น้อมไปในทางดียิ่งขึ้น คือน้อมไปในทางที่ละชั่ว ทำดี และชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส ตามหลักพระโอวาทสำคัญของพระพุทธเจ้า ก็จะเป็นเหตุให้จิตใจนี้น้อมไปในทางที่ละชั่ว ในทางที่ทำดี และในทางที่ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใสบ่อยๆ ทำให้มีความคุ้นเคยในทางดี น้อมไปในทางดี เป็นความดีที่ประพฤติติดตัว

ความดีที่ประพฤติติดตัวนี้ก็เรียกว่าเป็นบารมีคือความดีที่เก็บไว้ อันตรงกันข้ามกับกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่เก็บไว้ อันเรียกว่าอาสวะอนุสัยดังกล่าวนั้น เพราะฉะนั้น ทุกคนที่เป็นสามัญชนจึงมีอยู่ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย ฝ่ายดีก็คือบารมี ฝ่ายร้ายก็คืออาสวะหรืออนุสัย ประจำอยู่ในจิตใจของตนเอง และทั้งเมื่อได้มาปฏิบัติจิตตภาวนาการอบรมจิตที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้

ก็เป็นการปฏิบัตินำจิตให้น้อมไปในทางดี ให้ประทับอยู่ในทางดี หรือพูดอย่างง่ายๆ ว่าติดอยู่ในทางดีมากขึ้น และดีนี้เองก็จะลดชั่วให้น้อยลง ในเมื่อน้อมไปในทางดีมาก และเมื่อลดชั่วได้ หรือว่าเก็บฝ่ายดีได้ไปโดยลำดับก็จะทำให้เป็นกัลยาณชนคือคนดี จนถึงเป็นอริยชนคือเป็นบุคคลที่เป็นพระอริยะ หรือที่เรียกกันว่าผู้สำเร็จ เมื่อลดชั่วได้หมดสิ้นเรียกว่าถึงที่สุดดีถึงที่สุดชั่ว ก็เป็นพระอรหันต์ ผู้เสร็จกิจในทางพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ก่อนที่จะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ยังมีทั้งส่วนดีทั้งส่วนชั่ว คือทั้งส่วนที่เป็นอาสวะอันเป็นส่วนชั่วที่เก็บชั่วเอาไว้ ทั้งส่วนดีคือบารมีที่เก็บดีเอาไว้เช่นเดียวกัน แต่อาศัยที่ท่านได้น้อมจิตไปในทางดี เก็บดีคือบารมีนี้ให้มากขึ้นๆ บารมีก็ละอาสวะที่เป็นส่วนเก็บชั่วนี้ให้น้อยลง จนถึงสุดดีคือเก็บดีไว้เต็มที่สมบูรณ์ที่สุด ก็ละอาสวะได้หมดสิ้นเป็นสุดชั่ว จึงเป็นผู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า และเป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่ยังไม่บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อได้ทำดีเก็บดี และละอาสวะที่เป็นส่วนชั่วได้บางส่วน ก็เป็นพระอริยะบุคคลที่ต่ำลงมา จนถึงเมื่อยังละไม่ได้แต่ว่าทำความดีเก็บดีเอาไว้ได้มาก ลดเก็บชั่วลงไป ก็เป็นกัลยาณชนคือคนดี แม้ยังเป็นบุถุชนคือคนที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างเต็มที่ ยังละไม่ได้ แต่ก็เป็นกัลยาณชนคือคนดี

หากว่าจิตยังไม่น้อมมาในทางดี น้อมไปในทางชั่วมาก เก็บชั่วไว้มาก ก็เป็นพาลชนคือคนเขลา และหากว่าน้อมไปในทางชั่วมากที่สุด เก็บชั่วไว้มากที่สุด ส่วนดีมีอยู่น้อยคล้ายกับไม่มี ก็เป็นอันธพาลบุถุชน คือบุถุชนที่เป็นอันธพาล คือเป็นผู้เขลาเหมือนอย่างตาบอด เป็นผู้มืด ต้องประสบความทุกข์อยู่ในโลกเป็นอันมาก จนกว่าจะตาสว่างขึ้น รู้จักละชั่วทำดี รู้จักชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส จึงจะค่อยประสบความสุขมากขึ้น ก็จะเลื่อนขึ้นเป็นสามัญชนที่เป็นคนสามัญทั่วไป

แล้วก็เป็นกัลยาณชนคนดี เป็นอริยชน ชนที่เป็นพระอริยะ จนถึงเป็นพระอรหันต์ในที่สุด ก็แปลว่าทำดีถึงที่สุดเป็นสุดดี แล้วก็สุดชั่วคือว่าละชั่วได้หมด ละอาสวะกิเลสได้หมด จิตนี้ก็ปภัสสรผุดผ่องขึ้นโดยลำดับ จนถึงผุดผ่องเต็มที่ และธาตุรู้ของจิตก็เป็นความรู้จักสัจจะคือความจริงขึ้นโดยลำดับ จนรู้จักสัจจะเต็มที่ คือรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างสมบูรณ์ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป