วิเคราะห์มาตรการใหม่ในการควบคุมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
วิเคราะห์มาตรการใหม่ในการควบคุมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยเหตุที่ได้มีมาตรการคุมเข้มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเรื่องการโฆษณาและการจำกัดการจำหน่ายเครื่องดื่มดังกล่าวโดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งมักจะได้รับอิทธิพลจากสื่อต่าง ๆ อันอาจนำไปสู่การบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนและก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆตามมาภายหลังนั้น ในปัจจุบันได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และตลอดจนการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีคำสั่งควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นที่วิจารณ์จากบุคคลหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนว่ามาตรการดังกล่าว มีความเหมาะสมและสามารถปฏิบัติได้จริงเพียงใด ด้วยเหตุดังกล่าว บทความนี้จึงมีความประสงค์ที่จะนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งดังกล่าวตลอดจนเนื้อหาโดยย่อของร่างพระราชบัญญัติเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านต่อไป
กรณีการควบคุมการโฆษณาธุรกิจเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
นับแต่ปี พ.ศ.2546 ได้มีการควบคุมสื่อโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติจำกัดการโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2546 โดยกำหนดห้ามเผยแพร่สปอตโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด หรือ สปอตโฆษณาของบริษัทผู้ผลิตรวมทั้ง
การแสดงเครื่องหมายการค้า ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อบริษัทผู้ผลิต ทั้งภาพนิ่งและาพเคลื่อนไหว หรือเป็นสปอนเซอร์ และห้ามแพร่ภาพโฆษณาในรายการถ่ายทอดแข่งขันกีฬาภายในประเทศ ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ในช่วงเวลา 05.00 น.- 22.00 น. ซึ่งมาตรการดังกล่าวในการควบคุมสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปรากฎว่ายังมีผู้ประกอบการบางรายยังคงทำการฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าวโดยทำการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเหนือจากช่วงเวลาที่ได้กำหนดไว้ ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคม โดยพบว่ามีจำนวนผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อต่างๆได้โดยง่าย และอาจมีค่านิยมที่ผิดจากการรับชมสื่อโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ดังกล่าว
โดยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2549 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีคำสั่งที่ 504/2549 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 กำหนดมาตรการในการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ด้วยสื่อโฆษณาทุกชนิดหรือวิธีการอื่นใดยกเว้นกรณี
1.1 การโฆษณาในสิ่งพิมพ์ซึ่งจัดพิมพ์นอกราชอาณาจักร โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ให้นำเข้ามาจำหน่าย จ่าย แจก ในราชอาณาจักรโดยเฉพาะ
1.2 การถ่ายทอดสดเหตุการณ์สดจากต่างประเทศทางวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะออกอากาศในราชอาณาจักรไทยโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ไม่รวมการโฆษณาที่แทรก หรือ คั่นระหว่างการถ่ายทอดคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 45 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีคำสั่งดังกล่าวนั้น ส่งผลให้เป็นที่วิจารณ์ จากบุคคลหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนว่า มาตรการดังกล่าวในการห้ามทำการโฆษณาโดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่ให้ผู้ประกอบการสามารถทำการโฆษณาได้นั้น จะมีประสิทธิภาพเป็นการควบคุมและป้องกันผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้มากเพียงใด และการห้ามทำการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ย่อมมีผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และธุรกิจสื่อโฆษณา ซึ่งเป็นที่น่าพิจารณาว่า กรณีดังกล่าวนั้น จะ
-ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมไทยและการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างไร
นอกจากนี้ ในปัจจุบันได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.... โดยมีมาตรการต่างๆที่มีความเข้มงวดขึ้นในการควบคุมการประกอบธุรกิจเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆดังต่อไปนี้
- มีการกำหนดอายุของบุคคลที่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น โดยห้ามมิให้จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจากเดิมกำหนดให้ห้ามทำการขายให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547
- ห้ามทำการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือลักษณะ เช่น การขายเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ เร่ขาย การเร่ขาย หรือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อโดยการขาย ลด แลก แจก แถม ชิงรางวัล เป็นต้น
- ห้ามมิให้ทำการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการแสดงชื่อ เครื่องหมาย ในสิ่งพิมพ์ วิทยุหรือโทรทัศน์ สื่ออิเลกทรอนิกส์ ป้ายโฆษณา ยกเว้นการถ่ายทอดสดรายการสดจากต่างประเทศ
- ห้ามทำการโฆษณา สินค้าที่ใช้ชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่มีการอนุญาตให้ใช้ชื่อบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้สนับสนุนทางสื่อต่าง ๆได้
นอกจากนี้ ยังห้ามทำการโฆษณาชื่อ หรือเครื่องหมายของบริษัท ห้างร้าน ผู้ผลิต นำเข้า ในลักษณะที่อาจทำให้แพร่หลายซึ่งชื่อ หรือ เครื่องหมายของบริษัท ห้าง ร้าน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จากการที่รัฐมีมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อควบคุมและลดจำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบต่อสังคม ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้
ข้อดีจากการมีมาตรการดังกล่าวออกมาบังคับใช้
1. การมีมาตรการในการควบคุมต่างๆ เช่นการห้ามทำการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง ตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ย่อมเป็นการลดอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อได้ง่าย
2. การดื่มแอลกอฮอล์ ย่อมเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคมะเร็งที่ตับ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคหัวใจ เป็นต้น ดังนั้น การมีมาตรการในการทำให้อัตราการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ลดลง เช่น การกำหนดอายุของบุคคลที่สามารถทำการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ การห้ามมิให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยวิธีการโฆษณาชวนเชื่อ เช่น การขายโดย ลด แลก แจก แถม ตามร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.... ย่อมเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถลดอัตราการบริโภค นำไปสู่ผลที่เป็นการลดอัตราการเกิดโรคต่างๆ จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และเป็นการลดค่าใช้จ่ายแก่รัฐในการรักษาผู้ป่วย และทำให้อัตราการนำผลิตภัณฑ์ยาสำหรับรักษาโรคต่าง ๆ เข้าประเทศน้อยลง
3. จากการวิจัยพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต และความพิการ มากเป็นอันดับสองรองจากโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ในจำนวนปีละกว่าแสนล้านบาท การที่รัฐมีมาตรการในการควบคุมเครื่องดื่มดังกล่าว และลดจำนวนการบริโภคลงนั้นย่อมเป็นการลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจดังกล่าวจากสังคมไทย
4. มาตรการในการควบคุมสื่อโฆษณาและการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ยังเป็นการช่วยลดปัญหาสังคม เช่น ลดอัตราการก่ออาชญากรรมต่าง ๆ อันมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ ซึ่งมักเป็นสาเหตุของการเกิดอาชญากรรมต่าง ๆ รวมถึงปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการในการพยายามที่จะควบคุมการจำหน่ายและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจะมีข้อดีหลายประการ มาตรการดังกล่าวนั้นยังคงเป็นที่สงสัยจากบุคคลหลายฝ่ายว่าจะเกิดประสิทธิภาพและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมไทย รวมไปถึงการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งสามารถพิจารณาถึงผลกระทบในแง่ลบจากการใช้มาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวดังต่อไปนี้
ข้อเสียจากการมีมาตรการดังกล่าวออกมาบังคับใช้
1. การที่รัฐบาลมีมาตรการไม่ให้บริษัทที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามมิให้มีการโฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมงนั้น อาจเป็นสาเหตุให้บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ หาทางออกโดยการไปทำการโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาต่างประเทศ ส่งผลให้รัฐสูญเสียเม็ดเงินให้แก่ต่างประเทศจำนวนมหาศาล
2. แม้ว่ารัฐบาลจะห้ามทำการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อโฆษณาในไทย แต่สำหรับสื่อต่างประเทศนั้นรัฐบาลไม่สามารถที่จะทำการควบคุมได้ทั้งหมด เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางรายที่สนับสนุนทีมฟุตบอล หรือการแข่งขันกีฬาในระดับโลกที่มีการถ่ายทอดสดมายังประเทศไทย นอกจากนี้ สื่อ internet ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บริษัทเหล่านี้จะสามารถทำการซื้อสื่อลงโฆษณาได้และยังเป็นการยากต่อการควบคุม ประกอบกับในปัจจุบัน วัยรุ่นไทยนิยมใช้ internet มากขึ้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวย่อมไม่สามารถควบคุมสื่อได้ทุกประเภทตามที่ภาครัฐต้องการ จึงเป็นกรณีที่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และธุรกิจโฆษณายังคงมีช่องทางที่จะทำการโฆษณาอยู่ ทำให้อาจพิจารณาได้ว่า มาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น ไม่สามารถใช้บังคับกับธุรกิจประเภทนี้ ได้ทั้งหมด
บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าในปัจจุบันนี้มีประเทศที่มีการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิงในหลายประเทศเช่น แอลจีเรีย อียิปต์ อิหร่าน ไอซ์แลนด์ และ นอร์เวย์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีปริมาณการดื่มน้อยกว่ากลุ่มประเทศที่ไม่มีมาตรการห้ามถึงร้อยละ 16 และที่สำคัญคือ อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามโฆษณานั้น มีอัตราต่ำกว่าประเทศที่ไม่มีมาตรการห้ามถึงร้อยละ 2.3
แม้มาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีข้อดีหลายประการ แต่ก็ยังคงมีข้อเสียอีกหลายประการเช่นกัน ซึ่งมาตรการห้ามเช่นนี้เป็นเสมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ดุจดังการแก้ปัญหาเรื่องการพนัน หรือ หวยใต้ดิน และอบายมุขอื่น ๆ รวมไปถึงเป็นการก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองประการใหญ่ ๆ คือ
1. ภาครัฐควรเริ่มแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าโดยเฉพาะ การอบรมสั่งสอนเยาวชนตั้งแต่เด็กถึงผลเสียของการดื่มเหล้า ซึ่งไม่ได้ทำให้ผู้ดื่มดูเท่ห์ หรือดูดีในสังคม และควรที่จะมีการปลูกฝังค่านิยมใหม่ ๆ ให้แก่เด็ก ดังกรณีที่มีการปลูกฝังค่านิยมและประสบผลสำเร็จ ได้แก่ การรณรงค์และปลูกฝังเยาวชนไม่ให้สูบบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่า เยาวชนไทยสูบบุหรี่กันน้อยลง ซึ่งในอดีตมีค่านิยมที่ผิดๆว่า การสูบบุหรี่ทำให้ดูดีและเป็นที่ยอมรับในสังคม แต่จากาการปลูกฝังค่านิยมใหม่ ๆ ทำให้ทัศนคติของเยาวชนในเรื่องการสูบบุหรี่เปลี่ยนไป มีการสูบบุหรี่ลดลงและเยาวชนบางคนก็รังเกียจที่จะอยู่ใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่นั้น เพราะทราบว่าควันบุหรี่มีอันตรายต่อผู้สูบและบุคคลที่ใกล้ชิด
2. ควรออกกฎหมายบังคับในเรื่องดังกล่าวมากกว่าที่จะออกมาตรการบังคับในรูปของคำสั่ง เพราะจะก่อให้เกิดมาตรการบังคับที่มีเนื้อหาและบทลงโทษที่ชัดเจน เด็ดขาดและไม่ควรออกกฎหมายให้มีช่องว่างเพื่อเป็นการป้องกันมิให้บุคคลในภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องหาประโยชน์จากกฎหมายหรือมาตรการดังกล่าวและเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฎิบัติ
บทสรุป
แม้การที่รัฐออกกฎมาควบคุมสื่อโฆษณาธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการจำหน่ายนั้น มาตรการต่างๆตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และคำสั่งของคณะกรรมการอาหารและยานั้น ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาและก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคสังคมและเศรษฐกิจของไทยอย่างไร โดยเฉพาะต่อเยาวชนซึ่งถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับอิทธิพลจากค่านิยมต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเหตุนี้จึงควรมีการศึกษาถึงมาตรการและแนวทางปฏิบัติดังกล่าวโดยละเอียดเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลทุกฝ่ายและก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเท่าทีมีความจำเป็นและเหมาะสมแก่กรณีเท่านั้น
--------------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นางสาวสุชนาภัสร์ แสงโสมไพศาล และ นางสาวพิมลพรรณ มีทิศสม
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ