ผีขุนน้ำ วิถีการอนุรักษ์น้ำ
ผีขุนน้ำ วิถีการอนุรักษ์น้ำ
ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง - ผู้เขียน
ชาวชนบทล้านนามีความผูกพันกับวิถีชีวิตเกษตรมาโดยตลอดปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเกษตรดำรงอยู่ได้คือ น้ำ และมีความเชื่อว่าน้ำจะอุดมสมบูรณ์มีมากน้อยหรือฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่นั้น ผู้ที่บันดาลให้เกิดขึ้นคือ พลังเร้นลับเหนือธรรมชาติที่รวมเรียกกันว่า ผีขุนน้ำ
ผีขุนน้ำ เชื่อว่าเป็นอารักษ์ประจำต้นน้ำแต่ละสาย จะสิงสถิตอยู่บนดอยสูงอันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำทั้งหลาย อาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ไม้ไฮ (ไทร) ไม้มะค่าหรือไม้ยาง เป็นต้น ชาวบ้านจะปลูกหอผี (ศาล) อยู่ใต้ต้นไม้ ใหญ่ เหล่านั้นแล้วอัญเชิญผีขุนน้ำมาสถิตอยู่ในหอผีนั้น
ผีขุนน้ำจะมีชื่อตามแม่น้ำนั้น เช่น ผีขุนวัง เป็นผีอยู่ต้นน้ำวัง หรืออาจเป็นลำห้วยสายหลักประจำหมู่บ้าน ก็จะมีผีที่คอยดูแลรักษา น้ำอยู่เช่นกัน เช่น ผีห้วยหลวง ผีห้วยทราย ผีห้วยเดื่อ ผีห้วยก๋า ในเขตนิคมกิ่วลม จังหวัดลำปาง เป็นต้น
ชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์จากลำน้ำจะร่วมแรงร่วมใจกันแสดงความขอบคุณผีขุนน้ำ ที่ปกปักรักษา ป่าไม้ ้ที่เป็นต้นน้ำลำธาร ให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ในการทำเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน โดยมีพิธีกรรมสำคัญที่เรียกว่า การเลี้ยงผีขุนน้ำ
การเลี้ยงผีขุนน้ำ คือ การทำพิธีสังเวยผีหรือเทวดาอารักษ์ ผู้เป็นหัวหน้าของผีอารักษ์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่ ปกปักรักษาป่าไม้อันเป็นต้นน้ำลำธาร เพื่อเป็นการขอบคุณเทวดาที่บันดาลให้มีน้ำใช้ในการเกษตร โดยเฉพาะ ในเขตลุ่มน้ำของลำน้ำนั้นๆ และยังเป็นการขอ ให้ผีประจำขุนน้ำบันดาลให้ฝนตกและมีน้ำจากขุนน้ำ หรือต้นน้ำ นั้นลงสู่พื้นราบ
ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ถ้าหากทำสิ่งใดที่ทำให้ผีขุนน้ำโกรธ เช่น ตัดต้นไม้ใหญ่ในแหล่งต้นน้ำที่สิงสถิต ของผีขุนน้ำ การกั้นลำห้วยหรือการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ตามลำพัง หรือปฏิบัติสิ่งอื่นใดที่ชาวบ้านเรียกว่า ขึด จะถูกลงโทษจากผีขุนน้ำ อาจให้น้ำน้อย หรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านผู้อยู่ ใต้ลำน้ำนั้นๆ
ดังนั้น ชาวบ้านจึงมีการตั้งกฎเกณฑ์และข้อห้ามต่างๆ ในการใช้น้ำและรักษาน้ำ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ทุกคนที่ร่วมใช้น้ำ นอกจากจะถูกลงโทษจากสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ อย่างผีขุนน้ำแล้ว ยังถูกการ ลงโทษจากกฎสังคมที่ร่วมกันตั้งขึ้นมา และผู้ที่ทำหน้าที่ในการรักษากฎที่สำคัญในชุมชนคือ แก่ฝาย นั่นเอง
ชาวบ้านจะมีพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนแปดหรือเดือนเก้าเหนือ (พฤษภาคม-มิถุนายน) ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในงานหรือผู้เป็นหัวหน้าในพิธีคือ แก่ฝาย หรือผู้ดูแลเหมืองฝายและทำหน้าที่ควบคุม หรือจัดสรรการใช้น้ำแก่เกษตรกรในเขตท้องที่รับน้ำจากฝาย
เมื่อถึงเวลาแก่ฝายจะเรียกประชุมลูกฝาย (ผู้ใช้น้ำจากฝาย) เพื่อหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมและช่วยกัน ตระเตรียมเครื่องสังเวยให้ครบถ้วน และเมื่อได้เวลาจะเดินทางไปทำพิธี ณ สถานที่ที่เชื่อว่าผีขุนน้ำสิงสถิตอยู่
เครื่องสังเวยผีขุนน้ำ ประกอบด้วย เทียน 4 แท่ง ดอกไม้ 4 กรวย พลู 4 กรวย หมาก 4 ขด หรือ 4 ท่อน ช่อ (ธงสามชาย) สีขาว มะพร้าว 2 ทะลาย กล้วย 2 หวี อ้อย 2 ท่อน หม้อใหญ่ อาหารคาวหวาน อาหาร 7 อย่าง หัวหมู เหล้าไห ไก่คู่ (ไก่ต้ม 1 คู่ เหล้าขาว 1ขวด) เมี่ยงและบุหรี่ และมีการสานชะลอมเพื่อใส่เครื่องสังเวยต่างๆ ที่เตรียมไว้ จำนวน 3 ชะลอม
ชาวบ้านจะทำพิธีในตอนเช้าโดยช่วยกันหาบและคอนชะลอมไปยังบริเวณพิธี หากบริเวณที่ทำพิธีไม่มีหอผี หรือศาลเทพารักษ์อยู่ ชาวบ้านจะสร้างศาลชั่วคราวขึ้นใกล้ๆ กับบริเวณด้านต้นน้ำ พร้อมทั้งปักเสาไม้ทำเป็น หลักช้าง หลักม้า สำหรับผูกช้างหรือม้าพาหนะของเทพารักษ์หรือผีขุนน้ำนั้นไว้ด้วย
เมื่อเตรียมการทุกอย่างพร้อมแล้ว แก่ฝายหรือปู่อาจารย์ผู้ประกอบพิธีทำพิธีอัญเชิญเทวดาอารักษ์ และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ประจำรักษาขุนน้ำให้มารับเครื่องสังเวย พร้อมทั้งใช้ถ้อยคำเป็นโวหารเสียงโหยหวน เพื่ออ้อนวอนขอให้ผีขุนน้ำบันดาลให้มีน้ำ อุดมสมบูรณ์และทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
เมื่อกล่าวคำเสร็จแล้ว ปู่อาจารย์นำข้าวปลาอาหารเหล่านั้นยกขึ้นวางบนหอผี และทิ้งระยะเวลาให้ผ่านไป ชั่วธูปหมดดอกขณะที่รอรับเครื่องสังเวยนั้น ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณพิธีก็พากันกินข้าวปลาอาหาร จนได้เวลา อันสมควร ก็จะชวนกันกลับบ้าน เป็นอันเสร็จพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ
หลังเสร็จพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำแล้วในช่วงบ่ายหรือวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจะช่วยกันขุดลอกเหมืองฝาย ทบทวน กฎเกณฑ์การใช้น้ำที่ร่วมกันตั้งขึ้น และจัดเตรียมอุปกรณ์การทำเกษตร ให้ครบเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ ฤดูกาลทำเกษตรที่กำลังมาถึง